วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แผนที่ท่องเที่ยงจังหวัดเลย

วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา จังหวัดเลย

วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา อยู่ในท้องที่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูค้อและป่าภูกระแต มีเนื้อที่ประมาณ 2,125 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2540
ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชัน ภูค้อใหญ่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 200-800 เมตร เป็นเขาหินปูนและหินดินดาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีลำห้วยที่สำคัญจำนวน 3 ลำห้วย คือ ห้วยถ้ำแก้ว ห้วยเลา และห้วยดินลาย มีน้ำไหลตลอดปี สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์
ลักษณะภูมิอากาศสภาพภูมิอากาศของวนอุทยานน้ำตกห้วยเลาแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่าเป็นป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ประดู่ แดง มะเกลือ ตะแบก ปู่เจ้า ไม้ไผ่ และเฟิร์นต่างๆและเนื่องจากบริเวณภูค้อและภูกระแตอยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีสัตว์ป่าที่พบได้แก่ หมีควาย หมูป่า กระแต แต่เหลือเป็นจำนวนน้อยและนกชนิดต่างๆ
แหล่งท่องเที่ยว ถ้ำน้ำลอด เป็นต้นน้ำของน้ำตกห้วยเลาไหลลงมาสู่เชิงเขาเป็นระยะทาง 800 เมตร มี 9 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความสวยงามมาก มีน้ำตกไหลตลอดปี
บ้านพัก-บริการ วนอุทยานน้ำตกห้วยเลาไม่มีบ้านพักหรือค่ายพักแรมบริการแก่นักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรมค้างคืนและพักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต็นท์และเตรียมอาหารไปเอง โดยทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา ให้ไปติดต่อขออนุญาตใช้สถานที่กับเจ้าหน้าที่ที่วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา โดยตรง
การเดินทาง รถยนต์ เดินทางจากจังหวัดเลยถึงอำเภอวงสะพุง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางต่อถึงอำเภอภูหลวง ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร แล้วเดินทางต่อถึงสี่แยกบ้านหนองคันผ่านบ้านห้วยหอม ตำบลหนองคัน อำเภอภูหลวงถึงวนอุทยานน้ำตกห้วยเลา ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ วนอุทยานน้ำตกห้วยเลา สำนักบริหารจัดการในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ต.แก่งศรีภูมิ อ.ภูหลวง จ.เลย

อุทยานแห่งชาติภูเรือ

• อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย อาณาเขตด้านทิศเหนืออยู่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รูปพรรณสันฐานของภูเรือมีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือใหญ่ บนยอดดอยสูงเป็นภูผาสีสันสะดุดตาหินบางก้อนมีลักษณะเหมือนถูกปั้นแต่งไว้ชาวบ้านเรียกว่า “กว้านสมอ” โดยรอบ ๆ จะเห็นยอดดอยเป็นขุนเขาน้อยใหญ่ใกล้เคียงเป็น ฝ้าขาวด้วยละอองน้ำ หมอก ปกคลุมไว้ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 121 ตารางกิโลเมตร หรือ 75,525 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ• อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อนประกอบด้วย เขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นเป็นหินแกรนิตสลับกันไป ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้มีที่ราบสูงสลับกับ ยอดเขาสูงทั่วไป มียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดภูเรือ มีความสูงถึง 1,365 เมตร จากระดับ น้ำทะเลปานกลาง ยังมียอดเขาที่สำคัญ คือ ยอดเขาภูสัน มีความสูง 1,035 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปานกลาง และยอดภูกุ มีความสูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะเช่นนี้เองจึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญก่อให้เกิดลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเกียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง
ลักษณะภูมิอากาศ• ด้วยอุทยานแห่งชาติภูเรืออยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศไทย และอยู่บนยอดเขาสูง จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวจะหนาว เย็นมาก จนกระทั่งน้ำค้างบนยอดหญ้าจะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง ซึ่งมีภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “แม่คะนิ้ง” นักท่องเที่ยวจะไปพักผ่อนควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะผจญกับความหนาวเย็น
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า• ภูเรือ มีสภาพป่าหลายชนิดปะปนกันอย่างสวยงาม ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดงดิบ ป่าสนเขา โดยเฉพาะยอดภูเรือ ประกอบด้วยป่าสนเขา สลับกับสวนหินธรรมชาติแซมด้วยพุ่มไม้เตี้ย สลับด้วยทุ่งหญ้าเป็นระยะ ไม้พื้นล่างที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ กุหลาบป่า มอส เฟิร์น และกล้วยไม้ที่สวยงาม เช่น ม้าวิ่ง สามปอย ไอยเรศ เอื้องคำ เอื้องผึ้ง เอื้องเงิน ซึ่งขึ้นตามต้นไม้และโขดหิน กล้วยไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งให้ชมสลับกันไปตลอดทั้งปี
• นอกจากนี้ ป่าภูเรือยังมีสัตว์ป่าที่ชุกชุมพอสมควร ที่พบบ่อย เช่น หมี เก้ง กวาง หมูป่า หมาไน ลิง พญากระรอกดำ ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ป่า และชุกชุมไปด้วยกระต่ายป่า เต่าเดือย เต่าปูลูและนกชนิดต่างๆ ที่สวยงามอีกมากมาย โดยเฉพาะในฤดูหนาวจะอพยพมาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก
แหล่งท่องเที่ยว• เขาโหล่นน้อย เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม สามารถมองเห็นภูหลวง ภูผาสาด ภูครั่งและทะเลภูเขา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 3 กิโลเมตร
• ผาซับทองหรือผากุหลาบขาว เป็นหน้าผาสูงชันและเป็นแหล่งน้ำซับ ประกอบกับมีไลเคนที่มีสีเหลืองคล้ายสีทอง ซึ่งเรียกว่า “ผาซับทอง” อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2.5 กิโลเมตร
• น้ำตกห้วยไผ่ เป็นน้ำตกสูงชัน สูงประมาณ 30 เมตร สายน้ำพุ่งแรงใสสะอาด อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในการใช้ทำน้ำประปาในอำเภอภูเรือ
• ยอดภูเรือ เป็นจุดที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติอยู่สูงประมาณ 1,365 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นหน้าผาสูงชัน จากจุดนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามได้รอบด้านกระทั่งเห็นแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขง ซึ่งกั้นพรมแดนไทย - ลาว
สิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีบ้านพัก ร้านอาหาร สถานที่กางเต้นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง• จากกรุงเทพฯ เดินทางสู่ จ.เพชรบูรณ์ สู่ อ.ภูเรือ จากนั้นเดินทางต่อไปอีก 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ
การติดต่อ อุทยานแห่งชาติภูเรือ จ. เลย 42160 โทรศัพท์ : 042 - 801 716

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมา
• ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่หรือมีความหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ นับเป็นสิริมงคลนามที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลก และดินส่วนที่อ่อนถูกพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ คงเหลือหินซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนที่แข็งไว้เป็นภูเขา
• ที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงถูกกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีเนื้อที่ประมาณ 848 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 530,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และกิ่งอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และได้มีการกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 เนื่องจากมีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมและเพิกถอนพื้นที่บางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 897 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 560,593 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
• สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใหญ่แนวเขตเริ่มจากระดับความสูงมาตรฐานปานกลางระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร ถึงยอดสูงสุดของภูหลวง 1,571 เมตร เทือกเขาซีกตะวันออกมีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่มีที่ราบบนหลังเขาระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร เนื้อที่ประมาณ 100 กม.เทือกเขาซีกตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่นระดับความสูง 600-800 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ

• ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส
• ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิสูงกว่าฤดูร้อนเล็กน้อยหรือใกล้เคียงกัน
• ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกรกฎาคม อากาศหนาวจัดอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8-16 องศาเซลเซียส โดยปกติแล้วในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิลดลงถึง 4-6 องศาเซลเซียส อยู่หลายวันและบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง
ชนิดป่าและพรรณไม้
ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแบ่งได้ดังนี้
• ป่าดงดิบชื้น (Tropical Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูง 400-800 เมตร พรรณไม้ส่วนใหญ่ไม่ผลัดใบ ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ พะวา ชะม่วง มะไฟป่า ตังหน เลือดควาย แซะ แดงน้ำ มะหาด กาลพฤกษ์ สมุย ค้อ ส้าน บุนนาค ราชพฤกษ์ ชมพู่ป่า ตะโก คายโซ่ ลำใยป่า มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน เป็นต้น
• ป่าดงดิบเขา (Hill Evergreen Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่มี ยางควน สนทก่อแดง บุนนาค มะหาด สนแผง สนหางกระรอก ข่าต้นอบเชย ตะไคร่ต้น ก่วมแดง กระทุ่ม ซ้อ ทะโล้ ค่าขี้หมู เป็นต้น
• ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduos Forest) พบป่าชนิดนี้ทางด้านตะวันออกท้องที่อำเภอ วังสะพุง และกิ่งอำเภอภูหลวง ไม้ที่ขึ้นอยู่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง กะบก ตีนนก ตะแบกใหญ่ เป็นต้น
• ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) พบป่าชนิดนี้เป็นส่วนน้อยในท้องที่อำเภอวังสะพุง และอำเภอด่านซ้าย ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ ตระคร้อ ติ้ว มะขามป้อม รัก ตีนนก กะโน แค เป็นต้น
• ป่าสนเขา (Coniferous Forest) พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนหลังเขาเป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป สนที่ขึ้นอยู่ส่วนมากเป็นสนสามใบ (Pinus khasya) ส่วนสนสองใบ ( Pinus Merkusii ) พบขึ้นกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่หนาแน่น
• ป่าไม้พุ่ม (Bush Forest) พื้นที่ดินของป่าชนิดนี้มักจะตื้นมีหินผุดโผล่ขึ้นทั่วไป พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนสันเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ส้มแปะ ประทัดแดง เง่าน้ำทิพย์ สนสร้อย และก่อดำ เป็นต้น
• ทุ่งหญ้า (Savannah) เป็นทุ่งหญ้าคา พบอยู่ในที่ราบบนหลังเขาทั่วไป
สัตว์ป่า
• สัตว์ป่าสงวน มีเหลืออยู่ 1 ชนิด คือ เลียงผา
• สัตว์ป่าคุ้มครอง มีช้าง กระทิง เสือโคร่ง เสือปลา กวางป่า หมีควาย อีเก้ง หมูป่า กระจง อีเห็นชนิดต่าง ๆ เม่นใหญ่ เม่นหางพวง หนูหริ่ง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า นกกางเขนน้ำ และนกอื่น ๆ ประมาณ 130 ชนิด เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าสนใจ
   1.อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงใกล้ถึงจุดเยือกแข็งหรือต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเกือบทุกปี
   2.เป็นแหล่งที่มีพืชพรรณไม้ในที่สูงที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้ป่ามากกว่า 160 ชนิด มีพืชพรรณ ไม้ที่หายากหรือมีที่ภูหลวงเพียงแห่งเดียวหรือพืชพรรณไม้ที่ไม่ค่อยจะพบเห็น
   3.สวนหินธรรมชาติที่ประกอบด้วยพืชพรรณไม้ดอกกล้วยไม้และพืชชั้นต่ำ เช่นลานสุริยัน และป่าหินภูเขา
   4.หน้าผาที่สูงชันและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ผาสมเด็จ ผาเยือง และผาโหล่นแต้
   5.ทุ่งดอกไม้ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม เช่นทุ่งกุหลาบแดง ทุ่งกุหลาบขาว
   6.รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่มีอายุประมาณ 120 ล้านปี
   7.น้ำตกที่ตกจากหน้าผาที่สูงประมาณ 60 เมตร เช่นน้ำตกตาดเลย
สิ่งอำนวยความสะดวก
   1.บ้านพักเรือนไม้ 6 หลัง แต่ละหลังมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง มีน้ำประปาและไฟฟ้า (ไฟฟ้ามีเฉพาะเวลากลางคืนถึง 21.00 น. ไม่อนุญาตให้ประกอบอาหารที่บ้านพัก)
   2.เครื่องนอนประกอบด้วย ที่นอน หมอนและผ้าห่มนวม บ้านพักหลังละ 8 ที่
การเดินทาง
• เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - อำเภอสีคิ้ว - จังหวัดชัยภูมิ - อำเภอภูเขียว- อำเภอชุมแพ - อำเภอภูกระดึง - อำเภอสะพุง - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 560 กิโลเมตร
• เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - จังหวัดเพชรบูรณ์ - อำเภอหล่มสัก - อำเภอหล่มเก่า - อำเภอด่านซ้าย - อำเภอภูเรือ - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร
• การเดินทางจากจังหวัดเลยไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงออกเดินทางจากตัวจังหวัดเลยไปตามเส้นทางสายจังหวัดเลย - อำเภอภูเรือ ระยะทาง 36 กิโลเมตร จะถึงบ้านสานตม แล้วแยกซ้ายที่บ้านสามตมไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
• สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเส้นทางที่ 2 ถ้าไม่เข้าตัวจังหวัดเลย เมื่อเดินทางผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านสามตม แล้วแยกขวาที่บ้านสามตมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
หมายเหตุ
1.กรมป่าไม้ไม่ให้เข้าไปใช้สถานที่นอกจากจะเข้าไปทำการศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยทางด้านวิชาการ
2.การใช้สถานที่ทางด้านโหล่นแต้ เขตอำเภอวังสะพุงซึ่งจังหวัดเลยดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวติดต่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย

อุทยานแห่งชาตินาแห้ว

อุทยานแห่งชาตินาแห้ว ตั้งอยู่ในเขต อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาแห้ว ตำบลแสงภา ตำบลเหล่ากอหอ อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย มีเนื้อที่ 73,225 ไร่ หรือ 117.16 ตารางกิโลเมตร ด้วยสภาพขุนเขาที่สูงสลับซับซ้อนกันในพื้นที่ อำเภอนาแห้ว ประกอบกับเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ สภาพป่าโดยส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น ซึ่งมีที่ราบน้อย จุดที่สูงที่สุดประมาณ 1,408 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สันเขามีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีความลาดเท ตั้งแต่ 2% จนถึงมากกว่า50 % ด้านตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ป่าผืนใหญ่ จะมีความลาดชันมาก พื้นที่ราบเชิงเขาเกือบจะไม่มี ด้านตะวันออกจะมีความลาดชันน้อย ลาดเทลงไปทางด้านตะวันออกมีที่ราบเชิงเขาอยู่บ้าง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 600 - 1,408 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติซึ่งมีพันธุ์ไม้อยู่หนาแน่น ในช่วงที่อากาศค่อนข้างจะหนาวเย็น
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาตินาแห้ว มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่เลียงผา เก้ง กวาง กระจง หมูป่า หมี เสือโคร่ง หมาไน อีเห็น ควายป่า บ่าง กระรอก ในป่านี้มีสัตว์ชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “ตัวหอน” มีลักษณะคล้ายเม่นอยู่เป็นกลุ่มหากินกลางคืนอาศัยตามหลืบหิน โพรงหิน ไม่ขุดรูอยู่ด้วยตนเองเหมือนเม่น
นก ประกอบด้วย นกเหยี่ยว นกกระจิบ นกโพระดก นกกาเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกเขว้าปัง นกเขว้าโคก นกกก นกแซงแซว เป็นต้น และมีนกชนิดหนึ่งเรียกว่า “นกกองกอด” ลักษณะเด่น คือ ที่ขามีเดือยมากกว่า 1 เดือย หางคล้ายนกยูง
สัตว์เลื้อยคลาน มี เต่าปูลู กิ้งก่า กะท่าง แย้ จิ้งเหลน ตะกวด แลน และงูชนิดต่าง ๆ ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ประเภทงูมักพบในป่าเบญจพรรณ
ปลา พบในลำน้ำเหืองและแม้แต่ลำห้วยเล็กๆ ก็มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่ในลำห้วย มีพวกปลาประเภทที่มีเกล็ด เช่น ตะเพียน ปลากะสูบ ปลาช่อน ปลาซิวและปลาขนาดเล็กอื่น ๆ ปลาไม่มีเกล็ด คือ ปลาไหล ปลาหลด ไม่มีปลาขนาดใหญ่
แหล่งท่องเที่ยว
หินสี่ทิศ อยู่บนเทือกเขาภูตีนสวนทราย ด้านทิศใต้จะมีหินอยู่ 4 ก้อน โผล่ขึ้นกลางป่าดงดิบ เป็นเสมือนประตูภูตีนสวนทราย ชาวบ้านขึ้นสักการะทุก 3 ปี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า 2 ปีหาม 3 ปีครอบ คือ ขึ้นไปทำบุญ 1 ครั้ง แล้วเว้นไปอีก 2 ปี ขึ้นไปสักการะอีก เรียกว่า บุญภูใหญ่หรือบุญสวนเมี่ยง จะทำปลายเดือน 3 ต้นเดือน 4 ไม่กำหนดวันที่แน่นอน
น้ำตกคิ้ง อยู่ในลำน้ำแพร่มีลักษณะเป็นแก่งหินลดหลั่นกันลงมา 2-3 ชั้น ตั้งอยู่ริมทางหลวงสายแสงภาเหล่ากอ จุดนี้ทางราชการได้ก่อสร้างเรือนประทับถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534
น้ำตกช้างตก อยู่เหนือน้ำตกคิ้งขึ้นไปประมาณ 500 เมตร อยู่ในลำน้ำแพร่เช่นกัน แต่มีความลาดชันมากกว่า
น้ำตกวังตาด อยู่เหนือน้ำตกช้างตก ขึ้นไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร อยู่ในลำน้ำแพร่เช่นกัน
น้ำตกตาดเหือง อยู่ในลำน้ำเหือง ลดหลั่นกัน 3 ชั้น สูงประมาณ 50 เมตรมีน้ำไหลตลอดปีสภาพป่าบริเวณรอบๆ ร่มรื่นดีมาก เหมาะสำหรับการพักผ่อน เป็นน้ำตกแบ่งเขตพรมแดนระหว่าง ไทย-ลาว
น้ำตกตาดผา เป็นน้ำตกสูงประมาณ 60 เมตร ลดหลั่นกันเป็นชั้น ซึ่งอยู่ใกล้บ้านแสงภา
น้ำตกผาค้อ อยู่ในลำน้ำเหือง ใช้ลำน้ำนี้เป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดน ระหว่าง ไทย-ลาว สภาพโดยทั่วไป รอบพื้นที่น้ำตกมีต้นไม้ที่สมบูรณ์ อากาศร่มรื่นดีมาก เหมาะแก่การพักผ่อนอย่างแท้จริง
หินก่วยหล่อ อยู่บนภูตีนสวนทรายเป็นหินทรายรูปร่างคล้ายดอกเห็ดตูมก้อนเดียวโผล่ขึ้นมากลางป่าดงดิบ ความโตโดยรอบประมาณ 19 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร รอบ ๆ หินมีร่องรอยเหมือนมีคนมาขุดเป็นร่องน้ำไว้ แต่โดยความจริงธรรมชาติเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง
จุดชมวิว เนิน 1408 เมื่อมองลงไปทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นบ้านบ่อเหมืองน้อยทิวทัศน์ของป่าเต็งรังบ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว จุดนี้หากขึ้นไปรอดูพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าจะสวยงามมาก บริเวณนี้เป็นที่ราบสันเขายาวเหมาะที่จะเดินพักผ่อนยิ่งนักนับว่าเป็นใจกลางของอุทยานแห่งชาตินาแห้วอย่างแท้จริง
จุดชมวิว เนิน 1205 เป็นจุดชมวิวในระยะใกล้จะเห็นบ้านห้วยน้ำผักอยู่ด้านล่างและเห็นวิวภูสอยดาวภูเวียงในประเทศลาว เป็นวิวทางด้านทิศเหนือจะเห็นภูเขาสลับซับซ้อนกันสุดสายตาที่จุดชมวิวมีลมพัด
การเดินทาง
   1.จากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดเลย และเดินทางจากจังหวัดเลยโดยใช้เส้นทางหมายเลข 203 ระยะทาง 68 กิโลเมตร ถึงทางแยกบ้านโคกงามเลี้ยวขวาตามเส้นทางหมายเลข 2031 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้าย เลี้ยวขวาตามเส้นทางหมายเลข 2113 ไปอีก 32 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแห้ว จากอำเภอนาแห้วเดินทางต่ออีก 4 กิโลเมตร ถึงบ้านเหมืองแพร่ เลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง หมายเลข1268 ผ่านตำบลแสงภา และเลี้ยวขวาตามทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 1268 หลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
   2.จากกรุงเทพฯ สู่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเดินทางจากอำเภอหล่มสัก ใช้เส้นทางหมาเลข 203 จนถึงบ้านโป่งชีเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข2014ถึงอำเภอด่านซ้ายเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 2113 ไปอีก 32 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแห้ว จากอำเภอนาแห้วเดินทางต่ออีก 4 กิโลเมตร ถึงบ้านเหมืองแพร่ เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 1268 ผ่านตำบลแสงภาและเลี้ยวขวาตามทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 1268 หลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
   3.จากจังหวัดพิษณุโลก-อำเภอชาติตระการ-บ้านบ่อภาค ถึงกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 1268 ผ่านบ้านร่มเกล้า ผ่านตำบลเหล่ากอหก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว


 

ประเพณีแห่ผีตาโขน

ประเพณีแห่ผีตาโขนประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย
ต้นกำเนิดผีตาโขน
กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
ชนิดของผีตาโขน
ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
การแต่งกายผีตาโขน
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลักและ สวมศีรษะด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน
การละเล่นผีตาโขน
เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน
วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา ถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละพระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง
วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต


อุทยานแห่งชาติภูกระดึง



อุทยานแห่งชาติภูกระดึง อยู่ในท้องที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ประกอบด้วยภูเขา ที่มีธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ที่ราบบนยอดภูกระดึงมีสังคมพืชเป็นสังคมของพืชเมืองหนาว ได้แก่ ป่าสนสองใบ ป่าสนสามใบ ป่าต้นเมเปิล (ไฟเดือนห้า) และพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม เช่น กุหลาบป่า ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน ดอกม่วนดักหงาย เป็นต้น ตลอดจนมีธรรมชาติ บรรยากาศ และทิวทัศน์ที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 348.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 217,576.25 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ ของภูกระดึง
สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายที่มีพื้นที่ราบบนยอดเขากว้างใหญ่สลับกับเนินเตี้ย ๆ ยอดสูงสุดคือ ภูกุ่มข้าว สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,350 เมตร เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำพอง ซึ่งหล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวาย ในจังหวัดขอนแก่น ยอดภูกระดึงประกอบไปด้วยป่าสนสลับป่าก่อและทุ่งหญ้า มีพันธุ์ไม้ดอก ไม้ใบ ขึ้นอยู่ทั่วไปตามบริเวณน้ำตก ลำธาร และลานหิน ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงามยิ่ง

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า บนภูกระดึง
ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีหลายชนิด เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา และป่าสนเขา มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ได้แก่ เต็ง รัง พลวง แดง มะค่า ยมหอม มะเกลือ ตะแบก สมอ รกฟ้า พญาไม้ สนสามพันปี จำปีป่า ทะโล้ เมเปิ้ล สนสองใบ และสนสามใบ ก่อชนิดต่าง ๆ ใน ทุ่งหญ้ามีพันธุ์ไม้ดอกที่สวยงาม ออกดอกบานสะพรั่งสลับกันไปตามฤดูกาล เช่น กุหลาบป่า เทียนน้ำ มณเฑียนทอง แววมยุรา กระดุมเงิน เทียมภู ส้มแปะ เง่าน้ำทิพย์ ดาวเรืองภู หยาดน้ำค้าง และกล้วยไม้ ซึ่งบางชนิดชอบขึ้นตามลานหิน ได้แก่ ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน ส่วนไม้พื้นล่างมีเฟิร์น มอส โดยเฉพาะ ข้าวตอกฤาษี ซึ่งเป็นมอสขนาดใหญ่สวยงามที่สุดและมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ภูกระดึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุมเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าภูกระดึงมีหลายชนิด เช่น ช้าง เสือโคร่ง หมีควาย เลียงผา เก้ง กวาง หมูป่า ชะนี บ่าง พญากระรอก หมาไน ส่วนนกชนิดต่าง ๆ ที่พบเห็นได้แก่ นกกางเขนดง นกจาบกินอกลาย นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกขมิ้นดง และมีเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และลาว
แหล่งท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติภูกระดึง
ผานกแอ่น อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 2 กิโลเมตร และห่างจากหลังแป 2.5 กิโลเมตร ผานกแอ่นเป็นลานหินเล็กๆมีสนขึ้นโดดเด่นริมหน้าผาต้นหนึ่ง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามยิ่ง มองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา เห็นผานกเค้าได้ชัดเจน ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นเป็นสวนหินมีดอกกุหลาบป่าขึ้นอยู่เป็นดงใหญ่ จะบานสะพรั่งเต็มต้นในเดือนมีนาคม - เมษายน
ผาหล่มสัก อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 9 กิโลเมตร เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นหนึ่งขึ้นชิดริมผาใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปในอากาศทางทิศใต้ บริเวณผาหล่มสักนี้มองเห็นทิวทัศน์เทือกเขาสลับซับซ้อนในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ และเป็นจุดหนึ่งที่จะชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างชัดเจนที่สุด บรรดาช่างภาพ สื่อมวลชน นิยมไปถ่ายภาพ ณ จุดนี้กันมาก เพราะยามตะวันตกดินจะเกิดทัศนียภาพที่งดงามมาก
สระแก้ว อยู่ในส่วนต้นน้ำของลำธารสวรรค์ “ธารสวรรค์” ลักษณะเป็นวังน้ำลึกขนาดไม่กว้างนัก น้ำใสมากจนมองเห็นพื้นหินขาวสะอาด ต่อจากบริเวณสระแก้วมีทางเดินชมธรรมชาติผ่านลานหินซึ่งมีดอกหรีสีม่วงอมน้ำเงินเกสรสีเหลือง ขึ้นอยู่เป็นทุ่งไปจนถึงผาน้อยนาน้อย
สระอโนดาด เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีต้นสนขึ้นเป็นแนวแน่นขนัด ตามริมสระตอนปากธารน้ำไหลมีลานหินโผล่ขึ้นมา ยามน้ำน้อยสามารถไปนั่งเล่น ได้จากบริเวณสระอโนดาดยังมีทางเดินไปต่อบรรจบกับเส้นทางเดินเท้าสู่ถ้ำสอและถ้ำน้ำได้
น้ำตกเพ็ญพบใหม่ เกิดจากลำธารวังกวาง น้ำตกผ่านผาหินรูปโค้ง ในหน้าหนาว ใบเมเปิ้ลที่อยู่บริเวณริมน้ำตกจะร่วงหล่นลอยไปตามผิวน้ำยามแดดสาดส่องผ่านลงมาจะเป็นสีแดงจัดตัดกับสีเขียวขจีของตะไคร่น้ำตามโขดหิน ลำธารวังกวางเป็นต้นกำเนิดน้ำตกที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกโผนพบ ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ โผน กิ่งเพชร นักชกแชมป์เปี้ยนโลกคนแรกของชาวไทยในฐานะเป็นผู้ค้นพบคนแรก เมื่อคราวที่ขึ้นไปซ้อมมวยให้ชินกับอากาศหนาว ก่อนเดินทางไปชกในต่างประเทศ
น้ำตกตาดร้อง เกิดจากลำน้ำพอง ซึ่งไหลลงมาจากภูกระดึงด้านหุบเขาตะวันตกเฉียงเหนือ สองฝั่งของตาดร้องเป็นผาหินสูงชันมาก เมื่อน้ำตกผ่านผาหินกว้างที่ลดหลั่นเป็นชั้น ๆ จึงทำให้เกิดเสียงดังกึกก้อง จากบริเวณน้ำตกมองเห็นแนวภูเขาเปลือยขวางอยู่ข้างหน้าน้ำตกตาดร้องอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกวังกวาง เป็นน้ำตกอยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดในบรรดาน้ำตกบนภูกระดึง ระยะทางเพียง 750 เมตร จากจุดเริ่มต้นตรงบริเวณบ้านพัก ลักษณะน้ำตกเป็นผาหินไม่สูงนัก ตัดขวางลำธาร ธารน้ำก็ไหลลดขึ้นลงยังวังน้ำเบื้องล่าง ซึ่งมีลักษณะคล้ายโพลงถ้ำมุดลงไปและบริเวณป่าใกล้ ๆ ก็เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกวางมักจะลงมากินน้ำอยู่เสมอ ๆ จึงเรียกน้ำตกอย่างน่าเอ็นดูว่า “น้ำตกวังกวาง” สูง 7 เมตร บริเวณน้ำตกมีที่กว้างขวางให้ได้นั่งพักสบาย ๆ หลายมุม
น้ำตกถ้ำใหญ่ ห่างจากน้ำตกเพ็ญพบ ประมาณ 1 กิโลเมตร เส้นทางเดินไปสู่น้ำตกจะดูใกล้นิดเดียวสำหรับคนชอบธรรมชาติ ชมนกชมไม้ เพราะตลอดเส้นทางครอบคลุมไปด้วยป่าดิบเขาที่มีพรรณไม้ใหญ่และร่มครึ้มกว่าทุกเส้นทางน้ำตกอื่น ๆ อาจได้พบต้นส้มกุ้ง (Begonice sp.) ออกดอกเป็นสีชมพู เกสรกลางสีเหลือง ชอบขึ้นตามทางในพื้นที่สูงอย่างป่าดงดิบเขา ในเส้นทางถ้ำใหญ่นี้มีทางเดินบางช่วงที่เลียบข้างลำห้วยเล็ก ๆ มีต้นเมเปิ้ลอยู่เป็นระยะ ๆ หากช่วงต้นมกราคม เส้นทางนี้จะแดงฉานด้วยใบเมเปิ้ลที่ร่วงหล่นเกลื่อนพื้นป่า ความสวยงามของน้ำตกถ้ำใหญ่จะแปลกตาด้วยโขดหินมหึมาวางทับซ้อนไม่เป็นระเบียบ ลำธารนี้ขนาบข้างด้วยต้นเมเปิ้ล ยามเมเปิ้ลแดงล่วงหล่น ขัดสีให้ลำธารหินเขียวสวยงามมีสีสันและมีชีวิตชีวาขึ้นมามากนักเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว
น้ำตกธารสวรรค์ จากน้ำตกถ้ำใหญ่เมื่อออกสู่ป่าสนไม่ไกลนักจะมีทางแยกบนลานหินสู่น้ำตกธารสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักตามเส้นทางป่าสนผ่านลานองค์พระพุทธเมตตาเพียง 1.6 กม. เท่านั้น เป็นน้ำตกขนาดเล็ก
น้ำตกโผนพบ เป็นหนึ่งในน้ำตกหลายจุดอันเกิดจากสายน้ำวังกวาง ห่างจากตัวน้ำตกเพ็ญพบใหม่เพียง 600 เมตรเท่านั้น ในส่วนของลำธารส่วนบนของน้ำตกโผนพบนี้ สามารถไปยืนชมตัวน้ำตกกลางลำธารซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์ที่สวยงาม น้ำตกมี 8 ชั้น สูงประมาณ 30 เมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงามไม่น้อยบนภูเขานี้ สำหรับชื่อ “โผนพบ” เข้าใจว่า โผน กิ่งเพชร อดีตแชมป์โลกคนแรกของไทยเป็นผู้ค้นพบเมื่อครั้งขึ้นไปซ้อมร่างกายบนภูกระดึง จึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า “โผนพบ”
น้ำตกพระองค์ คล้ายกับน้ำตกถ้ำใหญ่ แต่เป็นน้ำตกขนาดเล็กกว่า เกิดจากลำธารพระองค์ไหลเป็นลำธารเล็กๆ แล้วดิ่งตกลงหน้าผาที่ไม่สูงมากนักมุ่งสู่หินเบื้องล่าง ลำธารพระองค์นี้เป็นลำห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลจากสระอโนดาด สระน้ำกลางป่าสนซึ่งไม่เคยเหือดแห้ง จึงมีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกสอเหนือ เป็นน้ำตกขนาดกลาง สูง 10 เมตร ชั้นเดียว เกิดจากการพังทลายของแผ่นดินขนาดใหญ่เช่นเดียวกับน้ำตกหลายแห่ง ผาหินคล้ายน้ำตกเพ็บพบใหม่ มีสายน้ำไหลกลายเป็นบริเวณกว้าง
น้ำตกสอใต้ อยู่ในลำธารสายเดียวกับน้ำตกสอเหนือและอยู่ไม่ไกลกันนัก เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่เกิดจากหน้าผาหินถล่มลงไป สภาพภูมิประเทศไม่ได้อำนวยให้เกิดเป็นชั้นน้ำตกเหมือนแห่งอื่น ๆ จึงอยู่นอกเหนือความนิยมของนักท่องเที่ยว
สิ่งอำนวยความสะดวก บนภูกระดึง
อุทยานแห่งชาติภูกระดึงได้จัดบ้านพักและเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง สู่ภูกระดึง
• รถไฟ จากกรุงเทพมหานครโดยสารรถไฟไปลงที่ขอนแก่น จากนั้นโดยสารรถประจำทางสายขอนแก่น-เลย ไปยังหน้าตลาดที่ว่าการอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถเมล์เล็กเดินทางต่อไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นปีนเขาขึ้นยอดภู จากนั้นต้องเดินเท้าอีก 5 กิโลเมตร จึงจะถึง “หลังแป” แล้วเดินเท้าไปตามทุ่งหญ้าอีก 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่พักบนยอดภูกระดึงทางอุทยานฯ ได้จัดลูกหาบสัมภาระของนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดภูกระดึง คิดค่าบริการเป็นกิโลกรัม
• รถประจำทาง โดยสารรถยนต์จากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) กรุงเทพมหานคร ไปลงที่ ผานกเค้า แล้วโดยสารรถประจำทางไปลงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จากนั้นก็เดินต่อขึ้นไปยอดภูกระดึง