วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย

ประวัติความเป็นมา
• ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่หรือมีความหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ นับเป็นสิริมงคลนามที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลก และดินส่วนที่อ่อนถูกพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ คงเหลือหินซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนที่แข็งไว้เป็นภูเขา
• ที่ดินในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงถูกกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18ธันวาคม พ.ศ. 2517 มีเนื้อที่ประมาณ 848 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 530,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และกิ่งอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย และได้มีการกำหนดพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 เนื่องจากมีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติมและเพิกถอนพื้นที่บางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 897 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 560,593 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
• สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใหญ่แนวเขตเริ่มจากระดับความสูงมาตรฐานปานกลางระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร ถึงยอดสูงสุดของภูหลวง 1,571 เมตร เทือกเขาซีกตะวันออกมีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่มีที่ราบบนหลังเขาระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร เนื้อที่ประมาณ 100 กม.เทือกเขาซีกตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่นระดับความสูง 600-800 เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ

• ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนเมษายน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส
• ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม อุณหภูมิสูงกว่าฤดูร้อนเล็กน้อยหรือใกล้เคียงกัน
• ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกรกฎาคม อากาศหนาวจัดอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 8-16 องศาเซลเซียส โดยปกติแล้วในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิลดลงถึง 4-6 องศาเซลเซียส อยู่หลายวันและบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำลงกว่าจุดเยือกแข็ง
ชนิดป่าและพรรณไม้
ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแบ่งได้ดังนี้
• ป่าดงดิบชื้น (Tropical Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูง 400-800 เมตร พรรณไม้ส่วนใหญ่ไม่ผลัดใบ ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ พะวา ชะม่วง มะไฟป่า ตังหน เลือดควาย แซะ แดงน้ำ มะหาด กาลพฤกษ์ สมุย ค้อ ส้าน บุนนาค ราชพฤกษ์ ชมพู่ป่า ตะโก คายโซ่ ลำใยป่า มะค่าโมง ประดู่ ตะเคียนหิน เป็นต้น
• ป่าดงดิบเขา (Hill Evergreen Forest) เป็นป่าดงดิบที่อยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป ชนิดไม้ที่ขึ้นอยู่มี ยางควน สนทก่อแดง บุนนาค มะหาด สนแผง สนหางกระรอก ข่าต้นอบเชย ตะไคร่ต้น ก่วมแดง กระทุ่ม ซ้อ ทะโล้ ค่าขี้หมู เป็นต้น
• ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduos Forest) พบป่าชนิดนี้ทางด้านตะวันออกท้องที่อำเภอ วังสะพุง และกิ่งอำเภอภูหลวง ไม้ที่ขึ้นอยู่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ประดู่ มะค่าโมง แดง ยาง กะบก ตีนนก ตะแบกใหญ่ เป็นต้น
• ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) พบป่าชนิดนี้เป็นส่วนน้อยในท้องที่อำเภอวังสะพุง และอำเภอด่านซ้าย ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ประดู่ ตระคร้อ ติ้ว มะขามป้อม รัก ตีนนก กะโน แค เป็นต้น
• ป่าสนเขา (Coniferous Forest) พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนหลังเขาเป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป สนที่ขึ้นอยู่ส่วนมากเป็นสนสามใบ (Pinus khasya) ส่วนสนสองใบ ( Pinus Merkusii ) พบขึ้นกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่หนาแน่น
• ป่าไม้พุ่ม (Bush Forest) พื้นที่ดินของป่าชนิดนี้มักจะตื้นมีหินผุดโผล่ขึ้นทั่วไป พบป่าชนิดนี้ในที่ราบบนสันเขา พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ ได้แก่ กุหลาบขาว กุหลาบแดง ส้มแปะ ประทัดแดง เง่าน้ำทิพย์ สนสร้อย และก่อดำ เป็นต้น
• ทุ่งหญ้า (Savannah) เป็นทุ่งหญ้าคา พบอยู่ในที่ราบบนหลังเขาทั่วไป
สัตว์ป่า
• สัตว์ป่าสงวน มีเหลืออยู่ 1 ชนิด คือ เลียงผา
• สัตว์ป่าคุ้มครอง มีช้าง กระทิง เสือโคร่ง เสือปลา กวางป่า หมีควาย อีเก้ง หมูป่า กระจง อีเห็นชนิดต่าง ๆ เม่นใหญ่ เม่นหางพวง หนูหริ่ง ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ป่า นกกางเขนน้ำ และนกอื่น ๆ ประมาณ 130 ชนิด เป็นต้น
จุดเด่นที่น่าสนใจ
   1.อุณหภูมิของอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดลงใกล้ถึงจุดเยือกแข็งหรือต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเกือบทุกปี
   2.เป็นแหล่งที่มีพืชพรรณไม้ในที่สูงที่อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้ป่ามากกว่า 160 ชนิด มีพืชพรรณ ไม้ที่หายากหรือมีที่ภูหลวงเพียงแห่งเดียวหรือพืชพรรณไม้ที่ไม่ค่อยจะพบเห็น
   3.สวนหินธรรมชาติที่ประกอบด้วยพืชพรรณไม้ดอกกล้วยไม้และพืชชั้นต่ำ เช่นลานสุริยัน และป่าหินภูเขา
   4.หน้าผาที่สูงชันและทิวทัศน์ที่สวยงาม เช่น ผาสมเด็จ ผาเยือง และผาโหล่นแต้
   5.ทุ่งดอกไม้ป่าที่สมบูรณ์และสวยงาม เช่นทุ่งกุหลาบแดง ทุ่งกุหลาบขาว
   6.รอยเท้าไดโนเสาร์ ที่มีอายุประมาณ 120 ล้านปี
   7.น้ำตกที่ตกจากหน้าผาที่สูงประมาณ 60 เมตร เช่นน้ำตกตาดเลย
สิ่งอำนวยความสะดวก
   1.บ้านพักเรือนไม้ 6 หลัง แต่ละหลังมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง มีน้ำประปาและไฟฟ้า (ไฟฟ้ามีเฉพาะเวลากลางคืนถึง 21.00 น. ไม่อนุญาตให้ประกอบอาหารที่บ้านพัก)
   2.เครื่องนอนประกอบด้วย ที่นอน หมอนและผ้าห่มนวม บ้านพักหลังละ 8 ที่
การเดินทาง
• เส้นทางที่ 1 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - อำเภอสีคิ้ว - จังหวัดชัยภูมิ - อำเภอภูเขียว- อำเภอชุมแพ - อำเภอภูกระดึง - อำเภอสะพุง - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 560 กิโลเมตร
• เส้นทางที่ 2 กรุงเทพฯ - จังหวัดสระบุรี - จังหวัดเพชรบูรณ์ - อำเภอหล่มสัก - อำเภอหล่มเก่า - อำเภอด่านซ้าย - อำเภอภูเรือ - จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 530 กิโลเมตร
• การเดินทางจากจังหวัดเลยไปยังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงออกเดินทางจากตัวจังหวัดเลยไปตามเส้นทางสายจังหวัดเลย - อำเภอภูเรือ ระยะทาง 36 กิโลเมตร จะถึงบ้านสานตม แล้วแยกซ้ายที่บ้านสามตมไปอีก 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
• สำหรับผู้ที่เดินทางโดยเส้นทางที่ 2 ถ้าไม่เข้าตัวจังหวัดเลย เมื่อเดินทางผ่านอำเภอภูเรือไปตามเส้นทางเข้าจังหวัดเลยได้ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร จะถึงบ้านสามตม แล้วแยกขวาที่บ้านสามตมไปเป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
หมายเหตุ
1.กรมป่าไม้ไม่ให้เข้าไปใช้สถานที่นอกจากจะเข้าไปทำการศึกษาค้นคว้าหรือวิจัยทางด้านวิชาการ
2.การใช้สถานที่ทางด้านโหล่นแต้ เขตอำเภอวังสะพุงซึ่งจังหวัดเลยดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวติดต่อที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น